อัสตะวินายักกา

ถ้าเอ่ยถึงพระนาม "พระคเณศ" หรือ "พระพิฆเนศวร์" น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก

โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง จิตรกร ประติมากร

และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ เพราะพระองค์ได้รับการนับถือว่าเป็นบรมครูแห่งศิลปะ

เป็นมหาเทพที่ได้รับการบูชาเป็นอันดับแรก

 

ตามความเชื่อของชาวฮินดู ผู้ใดจะประกอบพิธีกรรมใดๆ ก็ตาม

ต้องบูชาพระคเณศก่อนเสมอ จึงจะได้รับความสำเร็จในพิธีบูชานั้นๆ

จึงกล่าวได้ว่าพระพิฆเณศวร์เป็นเทพเจ้าที่มีผู้รู้จักได้รับการนับถือมาก

มีเทวสถานของพระคเณศวรอยู่มากมายทั่วทุกมุมโลก

ที่แคว้น มหาราษฏร์ (Maharashta) ประเทศอินเดีย มีเทวสถาน 8 แห่งของพระคเณศวร เรียกว่า อัษฏวินายกะ (Ashtavinayaka)
อันหมายถึงเทวสถานพระคเณศ 8 องค์ (อัษฏะแปลว่าแปด + วินายกะแปลว่าพระพิฆเนศ) เทวสถานทั้งแปดแห่งนี้มีความสำคัญมาก
เพราะเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเณศวร์ที่เกิดขึ้นเองตามธรามชาติ เรียกเทวรูปลักษณะที่เกิดได้เองนี้ว่า "สวยัมภูมูรติ"
(สวยัมภู=เกิดขึ้นเอง + มูรติ=รูปเคารพ) ว่ากันว่าเกิดจากอำนาจแห่งองค์พระคเณศเอง จึงถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
 
ข้าพเจ้าได้มีโอกาส ยาตรา (ชาวฮินดูหมายถึงการเดินทางแสวงบุญ) ไปสักการะเทวสถานทั้งแปดแห่งนี้แล้ว
เห็นว่าน่าจะนำสาระความรู้และสิ่งดีๆมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เลยขออนุญาตพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับเทวสถานทั้ง 8
และตำนานของแต่ละแห่งซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการอวตารขององค์พระเคณศเพื่อปราบอธรรม โดยจะเรียงลำดับตามปุราณะต่างๆดังนี้
 
1. ศรีมยุเรศวร - ตั้งอยู่ที่ โมเรกาวน์
2. ศรีจินตามณี - ตั้งอยู่ที่ เทอูร์
3. ศรีสิทธิวินายัก - ตั้งอยู่ที่ สิทธาเทก
4. ศรีมหาคณปติ - ตั้งอยู่ที่ รันชันกาวน์
5. ศรีวิฆเนศวร - ตั้งอยู่ที่ โอซาร์
6. ศรีคีรีจัตมากา - ตั้งอยู่ที่ เลนยาดรี
7. ศรีบัลลาเลศวร - ตั้งอยู่ที่ ปาลี
8. ศรีวรัทวินายกะ - ตั้งอยู่ที่ มาหัท
 
 

เทวสถานศรีสิทธิวินายกะ


แห่งที่ 3 มีนามว่า เทวสถานศรีสิทธิวินายกะ (Shri Siddhivinayaka) (ศรีสิทธิวินายกะ นี้เป็นคนละองค์กับ สิทธิวินายกะ ที่ปรากฎหน้าแรกของสยามคเณศ) ประดิษฐานอยู่ที่ สิทธาเทก ในคเณศปุราณะ ได้กล่าวถึงตำนานเทวสถานแห่งนี้ว่า ในขณะที่ พระพรหม รังสรรค์โลกและสรรพสิ่งทั้งหลายอยู่นั้น ครั้งนั้นพระองค์ได้ให้กำเนิดเทวีขึ้น 2 องค์คือ พระนางพุทธิ และ พระนางฤทธิ (ตามปุราณะนี้เชื่อว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระธิดาของพรหมเทพ) พระองค์ได้ประทานบุตรีทั้ง 2 องค์นี้ให้เป็นชายาแก่ พระคเณศ

ในเวลานั้นเอง องค์พระหริวิษณุเทพ (พระนารายณ์) อยู่ในระหว่างบรรทมสินธุ์ ณ เกษียรสมุทร มูลพระกรรณ(หรือขี้หู) ของพระวิษณุ 2 เม็ดได้ไหลออกมาจากพระกรรณ กลายเป็นอสูร 2 ตนคือ มาธุสูร และ ไกตภสูร

พวกอสูรได้ก่อกวนองค์พระพรหมจนต้องเสด็จไปพึ่งพระวิษณุ เมื่อทราบเรื่องราวของอสูรแล้วจึงได้เสด็จไปปราบอสูรทั้งสอง แต่ก็ไม่สามารถกำราบอสูรลงได้จนเวลาผ่านไปถึง 5,000 ปี พระองค์จึงเสด็จไปพบองค์ พระศิวะ เพื่อปรึกษาหนทางที่จะปราบอสูร พระศิวะตรัสว่าเป็นเพราะพระวิษณุมิได้ทำการบูชาพระคเณศก่อนการรบกับอสูร จึงทำให้ไม่สามารถเอาชนะอสูรได้

พระวิษณุจึงไปบำเพ็ญเพียรที่ วิทธาเทก องค์พระคเณศปรากฎต่อพระวิษณุและให้พรในการปราบอสูร พระวิษณุเทพจึงสามารถสังหารอสูรทั้งสองลงได้สำเร็จ หลังจากนั้นพระวิษณุจึงสร้างเทวสถานขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อครอบสวยัมภูมูรติของพระคเณศ ณ สถานที่แห่งนี้ที่ทำให้พระองค์มีชัยชนะในสงคราม พระคเณศได้ประทานนามแก่เทวสถานแห่งนี้ว่า "สิทธิวินายกะ"

ผู้ใดได้สักการะองค์ "ศรีสิทธิวินายัก" นี้จะประสบความสำเร็จในการงานทุกประการ

 

เทวสถานศรีมหาคณปติ

แห่งที่ 4 มีนามว่า เทวสถานศรีมหาคณปติ (Shri Mahaganapati) อยู่ที่ รันชันทาวน์ ตามเทวตำนานจากคเณศปุราณะ เล่าว่า

ในเตรดายุค มีฤาษีพระองค์หนึ่งนามว่า คฤตสมาช วันหนึ่งขณะพระฤาษีกำลังบำเพ็ญเพียรภาวนา ได้จามออกมาเป็นกุมารน้อย มีผิวสีแดง พระฤาษีจึงได้สอนคเณศมนตราเพื่อให้ไปสวดบูชาพระคเณศ 

กุมารน้อยบำเพ็ญเพียรด้วยการท่องมนตราผ่านไปนานห้าพันปี พระคเณศวรพึงพอใจจึงได้ประทานพรให้ กุมารขอให้มีอำนาจครอบครองจักรวาล ปกครองสรรพสิ่งทั้งหมด พระคเณศเห็นว่าพรนั้นยิ่งใหญ่เกินไป จึงประทานปราสาททองคำ ปราสาทเงิน และปราสาทโลหะให้แล้วตรัสว่า

"ต่อไปนี้เจ้าจะมีนามว่า ตรีปุระ หากวันใดเจ้าประพฤติผิดคิดชั่ว วิมานเหล่านี้ก็จะถูกทำลายด้วยอำนาจของศรเพียงดอกเดียว จากองค์พระศิวะมหาเทพ บิดาแห่งข้า"

แต่เมื่อตรีปุระมีอำนาจ เกิดความลำพองนำพลอสูรรุกรานไปทั้ง 3 โลก ถึงขนาดต้องการยึด เขาไกรลาส ขององค์พระศิวะมาเป็นของตน จึงยกกองกำลังอสูรเสนาทั้งหลายไปยังเขาไกรลาส

พระศิวะมหาเทพและพระอุมาเทพีออกมารับศึกที่ เขามันทระ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะตรีปุราสูรได้ พระนารัทฤๅษีจึงได้แนะว่าควรจะบูชาพระคเณศก่อน พระศิวะได้บำเพ็ญสมาธิต่อพระคเณศ พระคเณศอำนวยพรแก่พระศิวะ โดยตรัสว่า "เมื่อท่านขานมนตราของเราแล้ว จงแผลงศรสู่วิมานของตรีปุราสูร" 

พระศิวะจึงได้ขึ้นสายศรตั้งจิตมั่นในการปราบตรีปุราสรแผลงศรไปยังนครทั้ง 3 ของตรีปุราสูร ทันใดนั้นก็บังเกิดแสงสว่างเจิดจ้าราวอสนีบาตฟาด ลูกศรได้พุ่งทะลุปราสาททั้ง 3 มอดไหม้ไปในพริบตา ตรีปุราสูรล้มลงสิ้นชีวิต 

เทวสถานศรีมหาคณปตินี้เป็นสถานที่ที่พระศิวะได้สวดมนต์บูชาต่อพระคเณศ เพื่อขอความสำเร็จ

ผู้ที่มาสักการะองค์ "ศรีมหาคณปติ" ที่นี่จะได้รับความสำเร็จสบปรารถนา

 

เทวสถานศรีวิฆเนศวร


เทวสถานศรีวิฆเนศวร (Shri Viganeshwar) เป็นเทวสถานแห่งที่ 5 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำภีมะ ที่เมือง โอซาร์ (Ozar) ตามตำนานจาก มุทคลปุราณะ เล่าไว้ว่า

กษัตริย์อภินันทะ แห่ง ครเหมวัติ มีความปรารถนาในบัลลังก์ของ องค์เทวราชอินทรา จึงได้บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างหนัก ร้อนถึง พระอินทร์ จึงสร้างอสูรร้ายนามว่า วิฆนาสูร ลงไปทำลายพิธีกรรมของอภินันทะ อสูรที่ส่งไปไม่ได้ทำลายเฉพาะพิธีของกษัตริย์อภินันทะเท่านั้น แต่กลับทำลายยัญพิธีของ ฤๅษีมุนี ไปทั้งหมด ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว เป็นเหตุให้ธรรมะเลือนหายไปจากโลก ทั้งสามโลกต้องตกอยู่ในความเดือดร้อนจากอำนาจของอสูร

บรรดาฤๅษีนักบวชทั้งหลายจึงไปขอร้องต่อองค์พระคเณศเพี่อให้ช่วยเหลือ พระองค์จึงอวตารมาเป็นบุตรของ ฤๅษีปารชวัส และ นางทีปวัสรา เพื่อปราบวิฆนาสูร ในการสู้รบนี้ อสูรใช้อำนาจแผลงฤทธิ์มากมายเช่นเรียกลมพายุ อุทกภัย และเพลิงเผาผลาญสรรพสิ่งให้พินาศ องค์คเณศก็ใช้อำนาจสยบอำนาจมายาของอสูรได้หมด ในที่สุดเมื่อไม่สามารถเอาชนะพระคเณศได้ วิฆนาสูรจึงมากราบแทบพระบาทถวายตัวต่อองค์พระคเณศ ขอให้ไว้ชีวิตและขอร้องให้พระคเณศใช้ชื่อของตัวเองรวมกับพระนามของพระคเณศ เพื่อเป็นการล้างบาปและเป็นบุญกุศลแก่อสูร เทวรูปพระคเณศที่นี่จึงได้รับขนานพระนาม "ศรีวิฆเนศวร" อันหมายถึงผู้ขจัดอุปสรรคและภยันตราย

ผู้ใดกล่าวบูชาพระนาม "ศรีวิฆเนศวร" ก่อนทำการใดๆ การนั้นจะประสบความสำเร็จและจะไม่เกิดอุปสรรคใดๆ จากวิฆนาสูร (อสูรแห่งอุปสรรค)

 

เทวสถานศรีคีรีจัตมากา

แห่งที่ 6 ต่อมาคือ เทวสถานศรีคีรีจัตมากา (Shri Girijatmaka) ที่เลนยาดรี (Lenyodri) คำว่า "เลน" หมายถึง ถ้ำ และคำว่า "ยาดรี" หมายถึงภูเขา คำว่า เลนยาดรี จึงหมายถึง ถ้ำในภูเขาเทวถานแห่งนี้เป็นถ้ำเจาะเข้าไปในภูเขา ต้องเดินขึ้นบันไดหินประมาณ 300 ขั้น

ตามตำนานในคเณศปุราณะกล่าวถึง พระแม่ปารวตี (พระอุมาเทวี) ได้ไปประกอบยัญพิธี เพื่อขอบุตรโดยพระแม่ปราวตีบำเพ็ญูเพียรอยู่ในถ้ำที่เมึองเลนยาดรีเเห่งนีั เป็นเวลานานถึง 12 ปี

วัน 4 ค่ำเดือน 19 (ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็น วันคเณศจตุรถี เทศกาลฉลองวันเกิดพระคเณศ)

พระแม่ปารวตีได้ปั้นดินเหนียวเป็นรูปพระคเณศแล้วประกอบพิธีบูชา ทันใดนั้นพระคเณศดินเหนียวก็บังเกิดชีวิตในขณะที่พระชนม์ 10 พรรษา

กมลาสูร ยกทัพจำนวนนับโกฏิมาทำสงครามกับพระคเณศ เมื่อเลือดของอสูรตกถึงพื้นก็จะบังเกิดอสูรขึ้นมาใหม่ สุดท้ายกมลาสูรโดนพระคเณศสังหารด้วยตรีศูลของพระองค์

จวบจนเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 15 ชันษาที่เมืองเลนยาดรีแห่งนี้ สินธุอสูรได้รู้ว่า ต่อไปตนเองจะต้องถูกสังหารโดยพระคเณศ จึงได้ส่งเหล่าอสูรไปสังหารพระองค์ แต่ก็ถูกพระคเณศปราบลงสิ้น ด้วยลีลาแห่งพระองค์ในลักษณะของ บัลคณปติ (บาละคณปติ-พระคเณศในลักษณะที่เป็นเด็ก) มีหลากหลาย ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่บังเกิดพระคเณศมีพระนามว่า "คีรีจัตมากา" อันหมายถึง "บุตรของพระแม่ปราวตี"

 

เทวสถานศรีบัลลาเลศวร

แห่งที่ 7 มีนามว่า ศรีบัลลาเลศวร (Shri Ballaleshwar) อยู่ที่ ปาลี เทวตำนานแห่งศรีบัลลาเลศวรจากคเณศปุราณะ เป็นเรื่องราวของสานุศิษย์ที่มีความรักความศรัทธาในองค์พระคเณศยิ่งนัก เด็กน้อยนามว่า บัลลา อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน เมืองปาลี เป็นลูกของ กัลยัน กับนาง อินทุมาตี เด็กน้อยมีความรักความศรัทธาตั้งมั่นในองค์พระคเนศตั้งแต่อายุยังน้อย วันหนึ่งบัลลาและเพื่อนๆได้ออกไปเที่ยวนอกหมู่บ้าน พบหินใหญ่ก้อนหนึ่ง บัลลาบอกเพื่อนๆว่าหินก้อนนั่นคือองค์พระคเนศวรและชวนเพื่อนๆ นำดอกไม้ใบไม้ต่างๆที่เป็นมงคลมาสักการะบูชาพระคเนศ พวกเด็กๆช่วยกันสร้างที่บังแดดบังฝนให้พระคเณศด้วยใบไผ่และใบไม้ต่างๆ รวมทั้งถวายดอกไม้ตกแต่งสวยงาม บัลลาเล่าเรื่องราวขององค์พระคเณศให้เพื่อนๆฟังอย่างมีความสุข บังเกิดความปีติอิ่มเอม ไม่รู้สึกหิวกระหายใดๆจนกระทั่งค่ำ

ที่หมู่บ้านบรรดาพ่อแม่ของเด็กๆต่างเป็นห่วงที่ลูกๆของตนหายไป จึงได้พากันไปด่าว่าพ่อแม่ของบัลลาที่มาชักชวนลูกๆของตนเอง พ่อของบัลลาโกรธมากจึงออกตามหาบัลลา พบว่าบัลลากำลังเล่าเรื่องราวในคเณศปุราณะให้เพื่อนๆฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความโกรธพ่อของบัลลาจึงตรงเข้าไปทำลายแท่นบูชา ไล่ใหเด็กทั้งหมดกลับบ้านไป เฆี่ยนตีบัลลาจนเนื้อแตก แล้วผูกบัลลาไว้กับต้นไม้ แต่บัลลาก็ไม่ได้ใส่ใจ กลับตั้งจิตมั่นบูชาพระคเณศต่อ ทำให้พ่อยิ่งโกรธยกหินพระคเณศทุ่มทิ้งจากที่บูชาแล้วกล่าวกับบัลลาว่าี "ไหนดูซิพระเจ้าของเจ้าจะมาคุ้มครองเจ้ายังไง" ว่าแล้วก็กลับบ้านไปด้วยความโมโห ด้วยบาปที่พ่อของบัลลาได้ก่อทำให้กลายเป็นคนตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ และหลังค่อม

พระคเณศเห็นความภักดีของบัลลาจึงได้ประทานพรให้ บัลลาจึงขอพรให้หลานที่แห่งนี้เป็ษสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พระคเณศจึงได้เนรมิตสวยัมภูมูรติขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ประทานนามว่า "บัลลาวินายกะ" แต่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม "ศรีบัลลาเลศวร"

ภายหลังแม่ของบัลลาได้มาขอร้องให้ช่วยพ่อซึ่งต้องคำสาปทำให้หลังค่อม ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ แต่บัลลาไม่สามารถช่วยได้ ได้แต่บอกมารดาให้กลับไปดูแลบิดาให้ดี ในชาติหน้ามารดาจะไปเกิดเป็นมเหสีแห่งกษัตริย์ แล้วบิดาคือกัลยันในชาตินี้จะไปเกิดเป็นลูกของนาง เขาจะต้องชดใช้บาปที่ทำในชาตินี้โดยเกิดมาหลังพิการ ตาบอด เป็นใบ้ หูหนวก เป็นที่รังเกียจต่อเมื่อได้บูชาพระคเณศด้วยความศรัทธาแล้ว เคราะห์กรรมจะหมดไป

ผู้ใดได้สักการะ "ศรีบัลลาเลศวร" ด้วยความรักและศรัทธาต่อองค์พระพิฆเนศวร์จะได้รับพรจากพระองค์

 

 

เทวสถานศรีวรัทวินายกะ

เทวสถานแห่งที่ 8 แห่งสุดท้ายในอัสตะวินายัก มีนามว่า "ศรีวรัทวินายกะ" (Shri Varadvinayaka) ตั้งอยู่ที่ มาหัท จากคเณศปุราณะและมุทคลปุราณะว่าไว้ดังนี้

สืบเนื่องมาจากเรื่องของ บัลลา กาลเวลาผ่านไป ทุกสิ่งเกิดขึ้นตามที่บัลลากล่าวไว้ อินทุมาตี ไปเกิดเป็น กมลา มเหสีของกษัตริย์ กัลยัน มาเกิดเป็น ทักษะ ลูกชายของนาง รูปกายอัปลักษณ์ ผิวหนังพุพอง ตาบอดเป็นใบ้หูหนวก สุดท้ายถูกขับออกจากเมือง ต้องเป็นขอทานเพื่อยังชีพ จนได้พบฤๅษีองค์หนึ่งช่วยรักษาให้กลับมามีวรรณะงาม หายจากการพิการ หลังจากนั้นทักษะก็อุทิศตนบูชาพระคเนศด้วยการบำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวด

กาลต่อมาทักษะได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งกันตินาปุระ ครองเมืองอย่างร่มเย็น ไปจนถึงรัชสมัยของกษัตริย์ "ภีมะ" มีพระโอรสนามว่า "รุกมาคันฑา" มีพระสิริโฉมงดงามหาใดเปรียบ วันหนึ่งราชบุตรได้ออกล่าสัตว์ในป่า ไปพบอาศรมของ พระฤๅษีวาจนกวี วันนั้นพระฤๅษีไม่อยู่ อยู่เพียงนาง มุกุนทา ผู้เป็นภรรยา เมื่อราชบุตรมาขอน้ำดี่มนางมุอุนทาจึงเอ่ยปากขอมีความสัมพันธ์ ทำให้รุกมาคันทาโกรธต่อว่านาง นางมุกนทาจึงได้สาปราชบุตรให้อัปลักษณ์เป็นโรคเรื้อน ทำให้ต้องไปอยู่ในป่าด้วยความอับอาย ไม่กล้ากลับพระนคร ต่อมาพระนารัทมุนีได้บอกวิธีแก้คำสาปให้

หลังจากที่นางมุกุนทาสาปพระโอรส ก็เฝ้าแต่คิดถึงพระสิริโฉมของพระองค์ พระอินทร์ ได้ทราบความ ทั้งเห็นว่านางมุกุนทานี้ก็มีความงาม จึงได้แปลงกายมาเป็นราชบุตรรุกมาคันทา เข้าไปมีความสัมพันธ์กับนางมุกุนทาจนนางตั้งครรภ์ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า ครุตสมัท นางอ้างว่าบุตรผู้นี้เป็นบุตรที่เกิดกับพระฤาษีสวามีของนาง

วันหนึ่งฤาษีวาจนกวีได้เชิญเหล่าฤๅษีมาที่อาศรม เมื่อเหล่าฤๅษีมาถึงจึงได้บอกแก่พระฤๅษีว่าครุตสมัทไม่ใช่บุตรของฤๅษีวาจนกวี เมื่อครุตสมัททราบความจริงจึงโกรธมารดามาก สาปให้นางกลายเป็นต้นไม้ นางมุกุนทาก็สาปครุตสมัทให้กลายเป็นรากษส

ครุตสมัทต้องคำสาปของมารดาก็เข้าไปอยู่ในป่า รับประทานแต่ใบไม้ และสวดอ้อนวอนต่อพระคเณศถึง 6,000 ปี จนพระคเณศพึงพอใจ ปรากฏพระองค์ต่อหน้าครุตสมัท โดยครุตสมัทขอให้บริเวณป่าปุษปักแห่งนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดต้องการความสุขสำเร็จ เมี่อได้เข้ามาสักการะและอาบน้ำในป่าแห่งนี้ก็จะได้รับความสุขสมดังประสงค์

เมื่อพระคเณศจากไป ครุตสมัทได้สร้างวัดครอบสวยัมภูมูรติที่พระคเณศเนรมิตขึ้น พร้อมทั้งขานพระนามวัดแห่งนี้ว่า "วรัทวินายกะ"

ผู้ที่มาสักการะ "ศรีวรัทวินายกะ" จะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

 

 

แผนที่ระบุตำแหน่ง "อัสตะวินายัก" เทวสถานพระพิฆเณศวร์ทั้งแปดแห่ง ณ ประเทศอินเดีย 

 

 

Visitors: 502,934